2 แรงงานไทยสร้างชื่อ คว้ารางวัลแรงงานคุณภาพขวัญใจนายจ้าง เตรียมพบประธานาธิบดีไต้หวัน “พิพัฒน์” ชื่นชมเป็นมาตรฐานสร้างโอกาสส่งทำงานเพิ่ม

Uncategorized

2 แรงงานไทยสร้างชื่อ คว้ารางวัลแรงงานคุณภาพขวัญใจนายจ้าง เตรียมพบประธานาธิบดีไต้หวัน “พิพัฒน์” ชื่นชมเป็นมาตรฐานสร้างโอกาสส่งทำงานเพิ่ม

CREATOR: gd-jpeg v1.0 (using IJG JPEG v62), quality = 100
CREATOR: gd-jpeg v1.0 (using IJG JPEG v62), quality = 100

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานไต้หวันจัดประกวดแรงงานดีเด่นแห่งไต้หวันเป็นประจำทุกปี เนื่องในวันแรงงานสากล (1 พฤษภาคม) โดยมอบรางวัลแรงงานดีเด่นให้กับแรงงาน 2 กลุ่มสำคัญ คือ แรงงานท้องถิ่น และแรงงานต่างชาติ โดยแบ่งรางวัลเป็น 2 สาขา ประกอบด้วย ภาคการผลิต และภาคสวัสดิการสังคม ซึ่งในปีนี้แรงงานไทย 2 ราย ได้แก่ นายวรพจน์ บุญเหลี่ยม อายุ 44 ปี จากจังหวัดร้อยเอ็ด และนายธีรสิทธิ์ กิบุญมา อายุ 62 ปี จากจังหวัดลำปาง สามารถคว้ารางวัลสาขาแรงงานต่างชาติ ในภาคการผลิต มาได้จากความขยัน มีน้ำใจ และการปฏิบัติงานได้อย่างดีเยี่ยมจนชนะใจนายจ้าง กองแรงงานท้องที่ สหภาพแรงงาน สมาคมผู้ประกอบการ องค์กร NGO และคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักวิชาการและตัวแทนกระทรวงแรงงานไต้หวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าภาคภูมิใจอย่างมาก โดยพิธีมอบโล่เกียรติคุณแรงงานดีเด่นแห่งไต้หวันจะจัดขึ้นในวันที่ 29 เมษายน 2567 ที่โรงแรม GRAND HILAI TAIPEI เขตหนานกั่ง ไทเป ผู้ได้รับการคัดเลือกจะได้รับประกาศนียบัตร โล่เกียรติคุณ และเงินรางวัล โดยวันที่ 30 เมษายนนี้ จะได้รับเกียรติให้เข้าพบประธานาธิบดีไช่อิงเหวินแห่งไต้หวันด้วย สำหรับปีนี้มีแรงงานต่างชาติได้รับรางวัลทั้งสิ้น 10 คน ภาคการผลิต ได้แก่ แรงงานสัญชาติไทย 2 คน เวียดนาม 2 คน ฟิลิปปินส์ 1 คน อินโดนีเซีย 1 คน และภาคสวัสดิการสังคม สัญชาติอินโดนีเซีย 2 คน เวียดนาม 1 คน และฟิลิปปินส์ 1 คน

“ไต้หวันเป็นดินแดนที่คนไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุดเพราะเป็นที่ต้องการของนายจ้าง ล่าสุดกระทรวงแรงงานจัดกิจกรรมส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ และได้ประกาศรายชื่อคนไทย 50 คนที่จะไปทำงานไต้หวัน โดยไม่ต้องเสียค่าบริการจัดหางานและค่าตั๋วเครื่องบิน มูลค่ารายละกว่า 4 หมื่นบาท โดยทั้งหมดจะได้เดินทางภายใน1 – 3 เดือนนี้ ซึ่งต้องขอบคุณแรงงานรุ่นพี่ที่สร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีต่อสายตานายจ้างในไต้หวันไว้มากมาย ความเชื่อมั่นนี้ทำให้แรงงานไทยรุ่นต่อๆไปได้รับโอกาสและเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับแรงงานดีเด่นรายแรก นายวรพจน์ บุญเหลี่ยม อายุ 44 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางมาทำงานที่ไต้หวันผ่านบริษัทจัดหางาน ไทยซินแทค แทรเวิล เซอร์วิส จำกัด อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อทำงานกับนายจ้างบริษัท FORTUNE ELECTRIC CO.,LTD. ในตำแหน่ง คนงานอุตสาหกรรมการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และเคยได้รับการคัดเลือกเป็นแรงงานต่างชาติดีเด่นนครเถาหยวนประจำ 2566 มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยคณะกรรมการตัดสินที่ให้คะแนนกล่าวแนะนำนายวรพจน์ว่า เป็นผู้มีความขยันตั้งใจทำงาน มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงาน มีความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ นอกจากทำหน้าที่เป็นช่างประกอบแล้ว นายจ้างยังมอบหมายให้เป็นพ่อบ้านดูแลหอพักแรงงานไทย ช่วยเหลือนายจ้างบริหารจัดการหอพัก ช่วยซ่อมแซมระบบประปาและไฟฟ้า ตลอดจนช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อม โดยใช้ฝีมือด้านงานไม้นำไม้พาเลทเหลือใช้มาทำเป็นตู้เก็บรองเท้าและตู้ไม้ด้วย นอกจากมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้ว ยังเข้ากันได้ดีกับเพื่อนร่วมงาน คอยแนะนำและสอนงานให้แก่พนักงานใหม่ พร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานจนงานสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้รับการยอมรับจากบริษัทว่าเป็นผู้มีความสามารถในการทำงานและสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้ดีเยี่ยมจนได้รับการยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือไปเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนแรงงานดีเด่นรายที่ 2 นายธีรสิทธิ์ กิบุญมา อายุ 62 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดลำปาง เดินทางมาทำงานที่ไต้หวันผ่านบริษัทจัดหางาน วีแอล สยาม ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อทำงานกับนายจ้างบริษัท QUALTOP CO., LTD. ในตำแหน่ง ผลิตอาหารสำเร็จรูป แช่แข็ง โดยคณะกรรมการตัดสินที่ให้คะแนนกล่าวแนะนำนายธีรสิทธิ์ว่า เป็นผู้ที่ทำงานด้วยความตั้งใจ มีความรับผิดชอบสูง รักเพื่อนพ้อง ทำหน้าที่เป็นผู้คุมคลังสินค้าแช่แข็งของโรงงานได้อย่างดีเยี่ยม เคยได้รับรางวัลพนักงานดีเด่นของโรงงานติดต่อกันหลายปี เป็นผู้ใฝ่รู้เทคนิคและขั้นตอนการทำงาน ปฏิบัติหน้าที่แล้วเสร็จภายในเวลากำหนดทุกครั้ง ด้วยอุปนิสัยรอบคอบทำให้เขาจดจำขั้นตอนการทำงานได้อย่างแม่นยำ มีไหวพริบคล่องแคล่วว่องไว หากพบความผิดปกติก็จะรีบแจ้งปัญหาทันที ช่วยลดความเสียหายของโรงงานได้มาก นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ดูแลหอพักแรงงานไทย ให้คำแนะนำช่วยเหลือเพื่อนแรงงานชาติเดียวกันให้ปรับตัวเข้ากับสังคมไต้หวัน ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่และการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางสื่อสารและเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและแรงงานไทยได้เป็นอย่างดี