การันตีเด็กจบใหม่มีงานทำ 100% “พิพัฒน์” หนุนหลักสูตรโลจิสติกส์ รองรับธุรกิจขนส่ง การค้าระหว่างประเทศ
วันที่ 25 เมษายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ รุ่นที่ 1 ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์รองรับธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ โดยมีนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้บริหารกรมฯ ให้การต้อนรับ ณ สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เขตบางนา กรุงเทพฯ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศในครั้งนี้จะเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม บริบทต่างๆ การดำเนินชีวิตประจำวันที่มีความทันสมัยและรวดเร็วมากขึ้น ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เข้ามามีบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นกลไกที่ส่งผ่านมูลค่าของสินค้าและบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้รับหรือผู้บริโภค ดังนั้น ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นตัวช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะประสบความสำเร็จหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับการมีกำลังแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ความร่วมมือกันระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ซึ่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิติกส์ในอาเซียน จึงเป็นโอกาสที่ดี สำหรับกลุ่มเป้าหมายเป็นบัณฑิตที่จบการศึกษาใหม่ระดับป.ตรี พัฒนาให้มีศักยภาพ ผลิตบุคลากร ตรงกับสายงานโลจิสติกส์ ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน พร้อมรับทำงานทันที
ด้านของนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในวันนี้มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 50 คน ผ่านการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 240 ชั่วโมง ทั้งภาคทฤษฎีอบรมระหว่างวันที่ 15 พ.ย.- 28 ธ.ค. 2566 ที่สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และภาคปฎิบัติฝึกงานในสถานประกอบกิจการ ระหว่างวันที่ 8 ม.ค.-29 ก.พ. 2567 เรียนรู้เกี่ยวกับจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ เงื่อนไขและเอกสารที่ต้องใช้ในธุรกิจ พิธีการศุลกากร การขนส่งทางทะเลและทางอากาศ โลจิสติกส์และซัพพลายเชน ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับโอกาสในการทำงานกับบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมซึ่งมีมากกว่า 300 แห่ง ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกที่ประสงค์เข้าทำงาน มีงานรองรับ 100%