จังหวัดน่านจัดการประชุมปัจฉิมโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทาน ขนาดกลางในเขตจังหวัดน่านข
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมน่านตรึงใจ อ.เมือง จ.น่าน นายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทาน ขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน จังหวัดน่าน โดยมี ผู้แทนหน่วยงานราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เกษตรกรผู้ใช้น้ำ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้โดยมีนายศุภชัย พินิจสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมจังหวัดน่าน กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน มีพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอเวียงสา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอภูเพียง อำเภอสันติสุข อำเภอนาน้อย และอำเภอท่าวังผา โครงการเหล่านี้ได้ดำเนินการส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกของราษฎรมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันอาคารหัวงาน ระบบชลประทานและระบบระบายน้ำของโครงการฯต่างๆ อยู่ในสภาพชำรุด แม้ว่าจะได้ดำเนินการดูแลบำรุงรักษาตลอดระยะเวลาดำเนินการ รวมถึงความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรม และในภาคส่วนอื่นๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ในปัจจุบันโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน ประสบปัญหาในการบริหารจัดการน้ำและขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมเพื่อพิจารณาปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางที่มีอยู่ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรมชลประทาน มีแผนการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัย จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัทโปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด บริษัท เอ็นพี เอเชีย จำกัด และบริษัท ชิกม่า ไฮโดร คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อดำเนินการโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน จังหวัดน่าน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการน้ำและรายงานการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อประเมินประสิทธิภาพและศึกษาความเหมาะสมของการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยผลการศึกษาแผนหลักการปรับปรุงโครงการชลประทานและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจะมีทั้งการใช้มาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง และมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ประกอบด้วย แผนงานด้านน้ำต้นทุน แผนงานด้านอาคารหัวงาน แผนงานระบบส่งน้ำ แผนงานด้านการบริหารจัดการ และแผนงานด้านงานศึกษาความเหมาะสม รวมทั้งสิ้นจำนวน 121 โครงการ
จากนั้นได้คัดเลือกโครงการที่มีความชับซ้อนในการแก้ไขปัญหามาศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงโครงการชลประทาน 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการฝ่ายน้ำกอน โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำพง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการฝายสมุน โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแฮต โครงการฝ่ายสาและโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำแหง
โดยในวันนี้กรมชลประทานและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้จัดให้มีการปัจฉิมนิเทศโครงการขึ้นเพื่อสรุปผลการศึกษาแผนหลักการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และผลการศึกษาความเหมาะสมของการปรับปรุงโครงการชลประทาน เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่าง หน่วยงานราชการในพื้นที่ ประชาชน และกรมชลประทาน อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีระหว่างกันในอนาคตผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หน่วยงานระดับจังหวัดและอำเภอ หน่วยงานในสังกัดกรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้นำชุมชนในพื้นที่ สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน จำนวน 150 คน
ด้านรองผู้ว่าราชการ กล่าวว่า โครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน เป็นส่วนสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ การใช้งานโครงการมานานประกอบกับสภาพต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพภูมิอากาศ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบการเพาะปลูก และความต้องการใช้น้ำในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงจึงสมควรแก่เวลาที่จะได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมากรมชลประทานและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินการจัดประชุมปฐมนิเทศ การประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 การประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 และการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 3 ซึ่งในวันนี้จะเป็นการประชุมปัจฉิมนิเทศเพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาแผนหลักการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และผลการศึกษาความเหมาะสมของการปรับปรุงโครงการชลประทาน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานโครงการต่อไป////////////บุญยงค์ สดสอาด นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน/บัญชา เหมืองหม้อ รายงาน