หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และภาคีเครือข่าย จัดงานนิทรรศน์ปรัชญาภิรมย์ยลยินศิลป์ลูกหลานน่านบุรี ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดน่าน

Uncategorized

หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และภาคีเครือข่าย จัดงานนิทรรศน์ปรัชญาภิรมย์ยลยินศิลป์ลูกหลานน่านบุรี ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดน่าน

เมือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ที่รมณียสถานผ้าน่าน่านบุรี ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และภาคีเครือข่าย จัดงานนิทรรศน์ปรัชญาภิรมย์ยลยินศิลป์ลูกหลานน่านบุรี ครั้งที่ 1ในโครงการปรัชญานิทัศน์ เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ การจัดกิจกรรมทางวิชาการให้เกิดการสร้างการรับรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความเข้มแข็งสู่ชุมชน โดยมีนายบรรจง ขุนเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม ซึ่งมีนางสาวฉัตต์ธิดา บุญโต ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูริพัฒน์ แก้วศรี ผู้ช่วยอธิการมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และผู้อำนวยการหอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พร้อมคณะให้การต้อนรับ

สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) และหอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นหน่วยงานที่รวบรวมองค์ความรู้ แนวทางการประยุกต์ใช้และส่งเสริมแหล่งการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้ดำเนินโครงการปรัชญานิทัศน์ ขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในปรัชญาและผลกระทบที่มีต่อการดำเนินชีวิตและการสื่อสารในสังคม โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมมีทักษะและความรู้ในการประยุกต์ใช้ปรัชญาในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการรวบรวมและสร้างองค์ความรู้ใหม่จากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโครงการปรัชญานิทัศน์ประกอบ ไปด้วย

กิจกรรมทั้งหมด 4 กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมที่ 1 การเสริมสร้างความรู้ศาสตร์พระราชาผ่านดนตรีวงดุริยางค์เครื่องลม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นำหลักการและแนวคิดที่ได้รับการสืบทอดจากพระมหากษัตริย์ไทย มาประยุกต์ใช้ในดนตรี มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยสื่อสารความรู้และคุณธรรมในด้านความเสียสละ ความพอเพียงและการทำงานเพื่อสังคมให้กับนักเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยจัดการอบรมที่โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร จังหวัดน่าน

กิจกรรมที่ 2 การบูรณาการงานศิลปะที่ร้อยเรียงเรื่องราวบนเส้นทางของหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายในการสื่อสารคุณค่าและศีลธรรมผ่านการแสดงออกและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยงานศิลปะจะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆผ่านวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1

กิจกรรมที่ 3 การรวบรวมองค์ความรู้ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกิจกรรมที่รวบรวมและสร้างองค์ความรู้ใหม่จากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ความสำเร็จการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการสร้างโมเดลการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อเป็นการขยายผลการเรียนรู้การใช้ชีวิตที่มีคุณภาพและมีความสุขตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

และกิจกรรมที่ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้ นิทรรศน์ปรัชญาภิรมย์ยลยินศิลป์ ลูกหลานน่านบุรี ครั้งที่ 1 เป็นการนำเสนอและแสดงผลงานของกิจกรรมที่ กล่าวมาข้างต้น เพื่อสร้างการรับรู้และการรักษาต่อยอดหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเกิดการบูรณาการเชิงพื้นที่จังหวัดน่านโดยจัดขึ้น ณ รมณียสถานผ้าน่านบุรี อ.เมืองน่าน ในวันที่ 6 – 9 พฤศจิกายน 2567/บุญยงค์ สดสอาด นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน รายงาน