พิธีรับรางวัลลูกโลกสีเขียว 

Uncategorized

วันที่ 25มิถุนายน  2568 นำโดยผู้ใหญ่นัยนา  ฑีฆาวงค์ พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้เข้าพิธีรับรางวัลลูกโลกสีเขียว  ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน ครั้งที่23/ 2568 ณ สถาบันลูกโลกสีเขียว  🌱

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชุมชนที่มีผลงานดีเด่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่องและผ่านการประเมินในรอบ 5 ปี    ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน ในวันที่ 25 มิถุนายน 2568 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. กรุงเทพฯ

🏆 ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน

1. ชุมชนบ้านห้วยหาด ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน

🌱ชุมชนบ้านห้วยหาด ชุมชน ห้วยหาด อำเภอปัว จังหวัดน่าน

ผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 23

ประเภทสิปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน

.

บทเรียนแห่งการปรับตัว ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และพัฒนาอย่างยั่งยืน

.

🏡ท่ามกลางหุบเขาในอำเภอปัว จังหวัดน่าน ชุมชนบ้านห้วยหาด ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ เคยใช้ชีวิตเรียบง่ายภายใต้ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ป่าไม้และลำน้ำห้วยหาดเป็นแหล่งอาหารแหล่งน้ำของชุมชน แต่เมื่อการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเข้ามา พื้นที่ป่าถูกแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การใช้สารเคมีอย่างหนักส่งผลให้แหล่งน้ำปนเปื้อนจนไม่สามารถใช้บริโภคได้ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง สัตว์น้ำและพืชป่าหายไป คนในชุมชนเริ่มเผชิญกับปัญหาสุขภาพและหนี้สิน

.

🔐จุดเปลี่ยนและการตระหนักรู้

เมื่อชาวบ้านพบว่าแหล่งน้ำที่เคยใสสะอาดกลายเป็นน้ำที่ใช้ไม่ได้ และต้องซื้อจากภายนอก พวกเขาเริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากการพึ่งพาเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีสูง อีกทั้งยังพบว่าสารพิษตกค้างในร่างกายของคนในชุมชนสูงเกินค่ามาตรฐาน ความอยู่รอดของชุมชนไม่สามารถพึ่งพาแนวทางเดิมได้อีกต่อไป บ้านห้วยหาดจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนา มุ่งสู่การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่กับการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

.

🌽จากไร่ข้าวโพดสู่การฟื้นฟูป่าและเกษตรอินทรีย์

ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชน บ้านห้วยหาดได้เลิกปลูกข้าวโพด หันมาทำเกษตรผสมผสาน และ ฟื้นฟูป่าและลำน้ำห้วยหาด ชาวบ้านเริ่มปลูกป่าทดแทน ทำแนวกันไฟป่า และสร้างฝายชะลอน้ำกว่า 20 แห่งเพื่อรักษาระบบนิเวศ การฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำกลายเป็นภารกิจสำคัญ ของชุมชน พวกเขาออกลาดตระเวนป่า ปลูกต้นไม้ริมลำห้วย และมีการบวชป่าเพื่อสร้างจิตสำนึกในการดูแลทรัพยากร

.

ผลที่เกิดขึ้นคือ แหล่งน้ำของบ้านห้วยหาดกลับมามีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถนำมาใช้ผลิตน้ำดื่มสะอาดให้กับคนในชุมชนได้ ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงน้ำสะอาดโดยไม่ต้องซื้อจากภายนอก อีกทั้งยังจำหน่ายให้กับพื้นที่ใกล้เคียง สร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน

.

🦈 นอกจากนี้ การอนุรักษ์แหล่งน้ำยังส่งผลให้ “ปลามัน” ซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่น เคยหายไปจากลำน้ำห้วยหาด กลับมาเพิ่มจำนวนขึ้น และกลายเป็นแหล่งอาหารและรายได้สำคัญของชุมชน

.

📍 การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจากฐานทรัพยากรท้องถิ่น

เมื่อป่าฟื้น น้ำกลับมาใสสะอาด ชุมชนก็สามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างยั่งยืน โดยมี

o  กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เช่น การทอผ้าไทลื้อที่ใช้สีจากเปลือกไม้ธรรมชาติ การทำไม้กวาดดอกก๋ง จักสาไม้ไผ่ และแปรรูปสมุนไพรจากป่าชุน

o  การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเปิดโฮมสเตย์ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเรียนรู้วิถีชีวิตพอเพียง ชิมอาหารชุมชน และสัมผัสธรรมชาติ

o  เกษตรอินทรีย์ ชุมชนหันมาทำนาขั้นบันได เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และปลูกพืชผักปลอดสารพิษ

.

บทเรียนของบ้านห้วยหาด : เมื่อชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นที่บ้านห้วยหาดไม่ใช่เพียงแค่การฟื้นฟูธรรมชาติ แต่คือการคืนความมั่นคงให้กับวิถีชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน เมื่อคนในชุมชนสามารถร่วมกันคิด วิเคราะห์ และหาทางออกจากวิกฤตโดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากนัก

.

👥 บ้านห้วยหาดในวันนี้เป็นหมู่บ้านที่พึ่งพาตนเองได้ จากชุมชนที่เคยต้องซื้อน้ำจากภายนอก พวกเขากลับสามารถผลิตน้ำดื่มของตนเองได้ จากชุมชนที่เคยต้องพึ่งพาเกษตรเชิงเดี่ยว วันนี้พวกเขามีเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกิดจากทรัพยากรที่ดูแลด้วยมือของตัวเอง

.

นี่คือบทเรียนของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเศรษฐกิจสามารถไปด้วยกันได้ หากการจัดการทรัพยากรเป็นไปอย่างรู้คุณค่าและมีส่วนร่วมจากคนในชุมชน

#สถาบันลูกโลกสีเขียว #รางวัลลูกโลกสีเขียว  #บ้านห้วยหาด #ชุมชนบ้านห้วยหาด/บุญยงค์ สดสอาด นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดน่าน รายงาน